เวลาทำการ
จันทร์ - ศุกร์ 09:00 - 18:00 น.
Call Center
08-1655-9898

เทศกาลท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น

30/01/2020 | by WeTrips Travel

activity-festival-01

โปรแกรมทัวร์ญี่ปุ่น https://wetripstravel.com/intertours/japan/

ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูแห่งดอกไม้บาน

ฤดูใบไม้ผลิตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาที่ดอกซากุระบาน เริ่มตั้นแต่ภาคใต้ของประเทศไล่จนถึงภาคเหนือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการชมดอกซากุระบานเต็มที่ในบริเวณกรุงโตเกียว คือช่วงราวปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม การบานของดอกซากุระนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อากาศต้องเปลี่ยนจากหนาวเป็นอบอุ่นจึงจะกระตุ้นให้ดอกซากุระนั้นบานได้ และระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นช่วง Golden Week ของชาวญี่ปุ่นที่จะได้หยุดพักผ่อนติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน

ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) ฤดูแห่งดอกไม้ไฟ

ฤดูร้อนเป็นฤดูกาลแห่งดอกไม้ไฟ อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์พร้อมความเขียวขจีทั่วประเทศ ใบของต้นซากุระ ใบเมเปิ้ล ต้นโอ๊ค หุบเขาในป่าใหญ่ล้วนเป็นสีเขียวอ่อน ตัดกับสีเขียวเข้มของต้นสนและต้นไผ่ที่โอนอ่อนตามสายลมในตอนกลางวันและยามค่ำคืน เทศกาลฤดูร้อนถือเป็นการรวมตัวของคนในชุมชนและผู้มาเยือน เพื่อร่วมชมเทศกาลดอกไม้ไฟ และชมระบำพื้นเมือง “Bon Odori” ที่มีสีสันและชีวิตชีวา

ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) ฤดูแห่งใบไม้เปลี่ยนสี

ฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวและใบไม้เปลี่ยนสี เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็นสบาย นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ใบไม้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง เหลืองและส้ม ขุนเขาต่างๆ ถูกแต่งแต้มให้มีสีสันราวกับพรม นอกจากนี้ ยังเป็นเวลาแห่งการผสมผสานระหว่างเทศกาล การกีฬา และกิจกรรมทางวัฒนธรรม หนึ่งในสัญลักษณ์ของฤดูนี้คือ งานเทศกาลดอกเบญจมาศ

ฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูแห่งการเพลิดเพลินกับหิมะ

ฤดูหนาวที่ญี่ปุ่นไม่รุนแรงอย่างที่คิด ยกเว้นทางตอนเหนือของประเทศที่มีหิมะทับถมสูง ภายนอกอากาศแม้จะมีอุณหภูมิต่ำ แต่หากเตรียมตัวสวมชุดกันหนาวก็จะไม่มีปัญหา และภายในอาคารส่วนใหญ่มีเครื่องทำความร้อน จึงไม่น่าเป็นห่วงเทศกาลต่างๆในฤดูนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับหิมะและน้ำแข็ง นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินไปกับหิมะและรูปแกะสลัก พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในประเพณีท้องถิ่นนั้นๆ ในช่วงเวลานี้จะมีงานเทศกาลต่างๆ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันสำหรับชาวญี่ปุ่น

activity-festival-02

งานเทศกาลต่างๆ ของญี่ปุ่นจะมีอยู่ในทุกภูมิภาคตลอดทั้ง 4 ฤดู

ในแต่ละปีการฉลองเทศกาลต่างๆเผยให้เห็นถึงความนึกคิดของชาวญี่ปุ่น ซึ่งต้นกำเนิดของงานเทศกาลจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่เตือนความทรงจำให้นึกถึงค่านิยมที่ยึดถือกันมานาน เช่น งานเทศกาล โอ-บง ในฤดูร้อน ผู้คนจะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดและเคารพบรรพบุรุษ งานฉลองปีใหม่ในฤดูหนาว งานชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ และเทศกาลชมสีสันของใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง ทั้งหมดล้วนเป็นเทศกาลที่แสดงให้เห็นถึงความรักและชื่นชมในธรรมชาติของชาวญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน

activity-festival-03

 

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ

31 ธันวาคม – 1 มกราคม
โอะเคะระ ไมริ (Okera Mairi) หรือ งานไหว้พระปีใหม่

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto, Kansai)

activity-festival-04 งานไหว้พระปีใหม่ที่ศาลเจ้ายะซะกะ (Yasaka Jinja) ในจังหวัดเกียวโต มีพิธีไฟศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการแกว่งเชือกที่จุดไฟในช่วงเวลาที่ไปขอพร ในตอนกลางคืนวันส่งท้ายปีใหม่ เพื่อปัดเป่าโชคร้ายในปีที่ผ่านมาออกไป และขอให้อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรงตลอดปีใหม่ที่กำลังมาเยือน
1-3 มกราคม
โอะโชกัตซึ ซันกะนิจิ (Oshougatsu sanga nichi) หรือ เทศกาลฉลองวันปีใหม่

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-05 เทศกาลฉลองวันปีใหม่ ในช่วงวันที่ 1-3 มกราคม ร้านค้า โรงงาน ธุรกิจส่วนใหญ่จะปิดให้บริการ เนื่องจากเป็นเวลาที่ฉลองกับครอบครัว แต่ละบ้านฉลองปีใหม่ด้วยอาหารมื้อพิเศษ พร้อมแต่งชุดกิโมโนที่สวยที่สุด และพากันไปวัดหรือศาลเจ้า เพื่อไหว้พระขอพรให้สุขภาพดี และมีความสุขตลอดปี
3 มกราคม
เทะมาเชเชริ-มัตสึริ (Temaseseri Matsuri)

จังหวัดฟุคุโอกะ ภูมิภาคคิวชู (Fukuoka , Kyushu)

 activity-festival-06 เทศกาลผู้ชายเปลือยครึ่งตัวที่แย่งลูกของความโชคดี นี้เป็นหนึ่งในสามเทศกาลหลักของคิวชู มีประวัติยาวนาน 500 ปี
6 มกราคม
เดะโซเมะ ชิกิ (Dezome shiki) หรือ วันพิธีดับเพลิง

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-07 วันพิธีดับเพลิง จัดที่Tokyo Big Sightโดยกองดับเพลิงกรุงโตเกียว มีการนำรถดับเพลิงกว่า 100 คันรวมทั้งเฮลิคอปเตอร์มาร่วมในงาน ทั้งยังมีการซ้อมดับไฟไปพร้อมๆกัน จุดเด่นคือการแสดงกายกรรมโลดโผนบนยอดบันไดหนีไฟ โดยนักดับเพลิงแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักดับเพลิงในสมัยเอโดะ
กลาง มกราคม
นิฮองซูโม่ เกียวไค (Nihon Sumo Kyokai)

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-08 การแข่งขันซูโม่ รอบแรก ในโตเกียวเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่งมีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
http://www.sumo.or.jp/en/index
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ (7 วัน)
ยูคิ-มัตสึริ (Yuki Matsuri หรือ Snow Festival) หรือ เทศกาลหิมะ

ทั่วเกาะฮอกไกโด

 activity-festival-09 เทศกาลหิมะที่มีชื่อที่สุดในญี่ปุ่นจัดที่เมืองซัปโปโร (Sapporo) บนเกาะฮอกไกโด มีการประกวดรูปแกะสลักหิมะโดยมีตัวแทนจากนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ส่วนเทศกาลหิมะในเมืองอื่นๆ เช่น อะซะฮิกะวะ (Asahikawa) อะบะชิริ (Abashiri) จะจัดขึ้นในช่วงต้น-กลาง ก.พ. ของทุกปี
3 หรือ 4 กุมภาพันธ์
เซสึบุน (Setsubun) หรือ เทศกาลปาถั่ว

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-10 ประเพณีการปาถั่วมงคลเป็นพิธีไล่สิ่งอัปมงคล นิยมทำกันตามวัดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งตามบ้านเรือนเพื่อต้อนรับความสุขในฤดูใบไม้ผลิที่กำลังมาถึง คนในครอบครัวคนหนึ่งสวมหน้ากากยักษ์ ส่วนคนอื่นๆที่เหลือร่วมปาถั่วไล่ยักษ์ออกนอกบ้าน พลางร้องซ้ำๆว่า “ยักษ์ออกไป ความสุขเข้ามา!” ก่อนปิดประตู
3 กุมภาพันธ์
เซสึบุน มันโทโร (Setsubun Mantoro) หรือ เทศกาลแห่โคมของศาลเจ้า Kasuga Taisha

จังหวัดนารา ภูมิภาคคันไซ (Nara, Kansai)

 activity-festival-11 เทศกาล Lantern แห่โคมของศาลเจ้า Kasuga Taisha ในจังหวัดนารา ไฟจากโคมกว่า 3,000 อันถูกวางกระจายทั่วสวนหินในศาลเจ้าเป็นเวลา 3 คืน ได้แก่ 3 ก.พ. และ 14-15 ส.ค. ของทุกปี กิจกรรมนี้มีต่อเนื่องมานานกว่า 800 ปีแล้ว โคมไฟส่วนใหญ่คือโคมที่ได้รับบริจาคจากประชาชน
15-16 กุมภาพันธ์
โยโคะเทะ คะมะคุระ ยูคิ-มัตสึริ (Yokote Kamakura Yuki Matsuri) หรือ เทศกาลกระท่อมหิมะแห่งโยโคะเทะ

เมืองโยโคะเทะ จังหวัดอะกิตะ ภูมิภาคโทโฮคุ (Yokote, Akita,Tohoku)

 activity-festival-12 เทศกาลกระท่อมหิมะแห่งเมืองโยโคะเทะ  จังหวัดอะกิตะ มีการนำหิมะมาขึ้นรูปเป็นกระท่อม ดูคล้ายถ้ำเล็กๆกว่า 100 หลัง นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งจิบเครื่องดื่มร้อนๆภายในกระท่อมได้ หรือจะเดินชมความงามจากแสงเทียนเล็กๆที่จุดตามกระท่อมจิ๋วจำนวนนับไม่ถ้วนที่ปั้นเอาไว้ตามพื้น กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำ และเพื่อขอให้มีน้ำบริสุทธิ์ใช้
วันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของ กุมภาพันธ์
ไซไดจิ เอะโย ฮาดะคะ -มัตสึริ (Saidai-ji Eyo Hadaka Matsuri) หรือ เทศกาลประจำปีวัดไซไดจิ

เมืองโอะคะยะมะ จังหวัดโอะคะยะมะ ภูมิภาคจูโงขุ (Okayama,Chugoku)

 activity-festival-13 เทศกาลประจำปีวัดไซไดจิ ที่จังหวัดโอะคะยะมะ จัดต่อเนื่องมานานกว่า 500 ปีแล้ว ชายนับหมื่นที่สวมผ้าเตี่ยวรวมตัวกันหน้าลานวัดแล้วแย่งกันครอบครองไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่พระโยนลงมาจำนวน 2 อัน เชื่อกันว่าคนที่แย่งไม้ดังกล่าวมาและนำไปปักยังจุดที่กำหนดไว้ได้จะมีโชคดีตลอดปี
1-14 มีนาคม
เทศกาลโอะมิสึโทะริ (Omizutori) หรือเทศกาลคบไฟ

จังหวัดนารา ภูมิภาคคันไซ(Nara ,Kansai)

 activity-festival-14 เทศกาลโอะมิสึโทะริ ที่วัดโทไดจิ (Todaiji) จังหวัดนารา เป็นพิธีทางศาสนาเพื่อขอพรโดยมีการจุดคบเพลิงยักษ์บริเวณวัด
ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าหากอาบร่างกายด้วยประกายไฟเหล่านี้ จะได้รับการคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้าย พร้อมทั้งยังมีพิธีทำน้ำมนต์อีกด้วย
3 มีนาคม
ฮินะ มัตสึริ (Hina Matsuri) หรือเทศกาลวันเด็กผู้หญิง

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-15 เทศกาลวันเด็กผู้หญิง มีการตกแต่งตุ๊กตารูปผู้หญิงที่แต่งกายแบบในราชสำนักแล้ววางประดับบนหิ้งเป็นชั้นๆ นับเป็นช่วงเวลาในการอธิษฐานให้ลูกสาวมีความสุข ขจัดพลังชั่วร้ายออกไปจากชีวิต ประสบความสำเร็จ สุขภาพร่างกายแข็งแรง และงดงามชาวญี่ปุ่นบางคนเชื่อว่า หากจบช่วงเวลาเทศกาลแล้วควรรีบเก็บตุ๊กตาและหิ้งเสีย เนื่องจากหากทิ้งไว้อาจทำให้ลูกสาวแต่งงานช้า
กลางมีนาคม
การแข่งขันซูโม่ (Spring Grand Sumo )

จังหวัดโอซาก้า ภูมิภาคคันไซ (Osaka,Kansai)

 activity-festival-16 การแข่งขันซูโม่ รอบที่ 2 ในโอซาก้าเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่ง
มีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
http://www.sumo.or.jp/en/index
8 เมษายน
ฮะนะ มัตสึริ (Hana Matsuri) หรือ เทศกาลถวายดอกไม้

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-17 เทศกาลถวายดอกไม้ เทศกาลที่จัดขึ้นภายในวัดเพื่อรำลึกถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
ในวันงานจะมีพิธีชงชาเขียว ภายในวัดจะตกแต่งด้วยดอกไม้
14-15 เมษายน
ทาคายามะ มัตสึริ (Takayama Matsuri) หรือ เทศกาลแห่ศาลเจ้าทาคายามะ

เมืองทะคะยะมะ ภูมิภาคจูบุ (Takayama,Chubu)

 activity-festival-18 เทศกาลทาคายามะ หรือเรียกอีกอย่างว่าเทศกาลซันโน (Sanno Matsuri) เป็นเทศกาลของฤดูใบไม้ผลิของศาลเจ้าฮิเอะในเมืองทะคะยะมะ ซึ่งจะมีขบวนรถแห่ศาลเจ้าอันตระการตาที่มีอายุนับร้อยปีประมาณ 10 กว่าขบวน
16-17 เมษายน
ยะโยอิ-มัตสึริ (Yayoi Matsuri) หรือ เทศกาลแห่ศาลเจ้าฤดูใบไม้ผลิ

เมืองนิกโก้ จังหวัดโทจิกิ ภูมิภาคคันโต (Nikko,Tochigi, Kanto)

 activity-festival-19 เทศกาลยะโยอิ จัดเทศกาลโดยศาลเจ้าฟุตะระซัน (Futarasan Jinja) ในเมืองนิกโก้ มีขบวนแห่ตกแต่งสวยงามด้วยดอกไม้ เป็นการส่งสัญญาณว่าฤดูใบไม้ผลิมาเยือนนิกโก้แล้ว
3-4 พฤษภาคม
ฮะคะตะ ดงทะคุ (Hakata Dontaku) หรือ เทศกาลขบวนแห่เทพเจ้าบนหลังม้า

จังหวัดฟุคุโอกะ ภูมิภาคคิวชู (Fukuoka,Kyushu)

 activity-festival-20 เทศกาลฮะคะตะ ดงทะคุ ในจังหวัดฟุคุโอกะ มีขบวนแห่เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เป็นขบวนแห่เทพเจ้าบนหลังม้าตามตำนานญี่ปุ่นรอบเมือง ทั้งยังมีขบวนพาเหรด มีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ต่างเดินขบวนร้องเพลงอวยพรตามขบวนแห่ที่เรียกว่า Dontakutai
3-5 พฤษภาคม
ฮามามัตสึ (Hamamatsu Matsuri) หรือ เทศกาลแข่งว่าว

เมืองฮามามัตสึ จังหวัดชิสึโอกะ ภูมิภาคคันโต (Hamamatsu, Shizuoka, Kanto)

 activity-festival-21 เทศกาลแข่งว่าว บริเวณเนินทรายเมืองฮามามัตสึ   จังหวัดชิซึโอกะ เป็นสนามแข่งว่าวที่มีการแข่งขันว่าวขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตอนกลางวันมีการแข่งเล่นว่าวใหญ่ และตอนกลางคืนจะมีการเดินขบวนแห่ที่สวยงามในเมือง
5 พฤษภาคม
โคโนโมะ โนะ ฮิ (Konomo-no-hi)หรือ เทศกาลวันเด็กผู้ชาย

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-22 เทศกาลวันเด็กผู้ชายนี้นับเป็นวันเด็ก เป็นวันหยุดราชการ
ภายในบ้านที่มีลูกชายจะตกแต่งบ้านโดยการประดับตุ๊กตานักรบเป็นสัญลักษณ์แทนการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และจะตั้งเสาธงปลาคาร์พไว้ภายในบริเวณบ้าน ธงปลาคาร์ฟจะมีปลาคาร์ฟอย่างน้อยสามตัวด้วยกัน ประกอบไปด้วย พ่อปลา แม่ปลา และลูกปลา ให้ขึ้นไปแหวกว่ายอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งโบกสะบัดโต้ลมฤดูใบไม้ผลิอย่างสวยงามมาก
11 พฤษภาคม -15 ตุลาคม
อุไค (Ukai) หรือ เทศกาลจับปลาโดยนกกาน้ำ

แม่น้ำนากะระ จังหวัดกิฟุ ภูมิภาคจูบุ (Nagaragawa,Gifu, Chubu)

 activity-festival-23 เทศกาลจับปลาโดยนกกาน้ำ (Ukai) บริเวณแม่น้ำนากะระที่ในจังหวัดกิฟุ เทศกาลนี้มีไว้เพื่ออนุรักษ์วิถีประมงแบบดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานนับพันปี กิจกรรมนกกาน้ำจับปลาในแม่น้ำนี้จัดขึ้นในตั้งแต่ 11 พฤษภาคม – 15 ตุลาคมของทุกปี เริ่มในเวลา 19.30 ของทุกวัน
15 พฤษภาคม
อะโอะอิ มัตสึริ (Aoi Matsuri) หรือ เทศกาลขบวนแห่โบราณ

กรุงเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-24 เทศกาลอะโอะอิ ที่จังหวัดเกียวโต เป็นเทศกาลใหญ่ในเกียวโต มีขบวนแห่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โบราณ ผู้เข้าร่วมขบวนแห่จำนวนหลายร้อยคนสวมใส่เครื่องแต่งกายโบราณอันงดงาม ขบวนแห่เดินผ่านถนนสายหลักของเกียวโตพร้อมขบวนรถที่มีไม้ดอกหลากสีสันร่วมในขบวน
กลาง พฤษภาคม
การแข่งขันซูโม่ (Summer Grand Sumo)

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-25 การแข่งขันซูโม่ รอบที่ 3 ในโตเกียวเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่งมีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
http://www.sumo.or.jp/en/index
17-18 พฤษภาคม
ชุนคิ เรไทไซ (Shunki Reitaisai) หรือ เทศกาลใหญ่ศาลเจ้าโทโชกุ

เมืองนิกโก้ จังหวัดโทจิกิ ภูมิภาคคันโต (Nikko,Tochigi, Kanto)

 activity-festival-26 เทศกาลใหญ่ศาลเจ้าโทโชกุที่เมืองนิกโก้ มีขบวนแห่นักรบกว่า 1,000 คน พร้อมม้าศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการแห่ศาลเจ้าเคลื่อนที่
วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของ พฤษภาคม
มิฟุเนะ-มัตสึริ (Mifune Matsuri) หรือ เทศกาลล่องเรือ

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-27 เทศกาลมิฟุเนะ-มัตสึริ เมืองอาราชิยามะ จังหวัดเกียวโตคือเทศกาลล่องเรือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน สำหรับงานเทศกาลนี้จะใช้เรือทั้งหมด 20 ลำ เรือแต่ละลำมีลักษณะต่างๆกันเช่น เรือของนักดนตรี,เรือของนักแสดง,เรือของนักประพันธ์ ซึ่งเรือทั้งหมดจะล่องไปตามแม่น้ำโออิ
วันศุกร์ – อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของ พฤษภาคม
ซันจะ-มัตสึริ (Sanja Matsuri) หรือ เทศกาลแห่งศาลเจ้าอาซาคุสะ

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-28 เทศกาลซันจะ-มัตสึริเรียกว่าเทศกาลแห่ศาลเจ้าที่วัดอาซาคุสะ (วัด Sensoji) แห่งกรุงโตเกียว มีการแห่ศาลเจ้าใหญ่ๆ 3 ศาลเจ้า และศาลเจ้าย่อยๆ อีกนับร้อยกว่าศาล โดยจะมีชายฉกรรจ์จำนวนมากร่วมแบกเกี้ยวศาลเจ้าจำลองที่เรียกว่า “โอะมิโคชิ” นับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีการร่ายรำ เล่นดนตรี
กลางเดือน มิถุนายน
ซันโน-มัตสึริ (Sanno Matsuri)หรือ เทศกาลแห่ศาลเจ้าฮิเอะ

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-29 เทศกาลซันโน-มัตสึริ นั้นเป็นงานประจำศาลเจ้าฮิเอะในโตเกียวมีการแห่ศาลเจ้าซึ่งเป็นขบวนแห่ศักดิ์สิทธิ์ในช่วงสัปดาห์เทศกาลจะได้พบกับประเพณีต่างๆของญี่ปุ่น เช่นมีการแสดงของดอกไม้ที่จัดในสไตล์ญี่ปุ่น,พิธีกรรมเกี่ยวกับชาเขียว, รวมถึงพิธีชำระล้างสิ่งอัปมงคล
วันเสาร์ที่ 2 ของมิถุนายน
ชะงุ-ชะงุ อุมะโก (Chagu-Chagu Umakko) หรือ เทศกาลม้า

เมืองทากิซาวาและโมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ ภูมิภาคโทโฮคุ (Takizawa,Iwate, Tohoku)

 activity-festival-30 เทศกาลม้าในเมืองโมริโอกะ มีขบวนแห่ม้านับ 100 ตัว สายรัดและตัวม้าประดับด้วยสีสันสดใสสวยงามพร้อมระฆังส่งเสียงกังวาลตลอดเส้นทางเดินประมาณ 15 กิโลเมตร
07 กรกฎาคม
ทะนะบะตะ-มัตสึริ (Tanabata Matsuri) หรือ เทศกาลดวงดาว

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-31 เทศกาลดวงดาวโบราณจัดขึ้นทั่วญี่ปุ่น  แต่พิเศษสุดที่เมืองเซนไดภูมิภาคโทโฮคุนั้นมีการจัดงานนี้ได้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด แต่เทศกาลทะนะบะตะเมืองเซนไดจัดขึ้นเดือนสิงหาคม  โดยมีการประดับโคมกระดาษหลากสีสวยงามพร้อมแต่ละบ้านประดับหน้าบ้านด้วยต้นไผ่ติดกระดาษสีที่ขอพรไว้
กลาง กรกฎาคม
การแข่งขันซูโม่

จังหวัดนาโงย่า ภูมิภาคจูบุ (Nagoya,Chubu )

 activity-festival-32 การแข่งขันซูโม่ รอบที่ 4 ในนาโงย่าเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวก็สามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่งมีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
14 กรกฎาคม
นะชิ โนะ ฮิ มัตสึริ (Nachi no Hi matsuri) หรือ เทศกาลไฟ

จังหวัดวะกะยะมะ ภูมิภาคคันไซ
(Wakayama,Kansai)

 activity-festival-33 เทศกาลไฟที่ศาลเจ้านะชิ ตั้งอยู่บริเวณภูเขาคุมะโนะ (Kumano) ในจังหวัดวะกะยะมะ นับเป็น 1 ใน 3 เทศกาลไฟที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีพิธีการแบกคบเพลิงขนาดใหญ่ 12 อันโดยนักบวชในชุดขาว
1-15 กรกฎาคม
ฮะคะตะ กิอง ยะมะกะสะ (Hakata Gion Yamakasa) หรือ เทศกาลใหญ่ของศาลเจ้าคุฉิดะ

จังหวัดฟุคุโอกะ ภูมิภาคคิวชู (Fukuoka,Kyushu)

 activity-festival-34 เทศกาลใหญ่ของศาลเจ้าคุฉิดะ จัดที่เมืองฟุคุโอกะ  มีขบวนรถแห่เทพเจ้าที่ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงามยิ่งใหญ่ โดยจะมีเหล่าผู้ชายสวมผ้าเตี่ยวแบกเสรี่ยงหนัก 1 ตัน ภายในบรรจุเหล่าตุ๊กตาตัวแทนของเทพเจ้าแห่รอบเมืองฟุคุโอกะซึ่งเป็นการแสดงถึงพลังอันเต็มเปี่ยม
1-29 กรกฎาคม
กิออน-มัตสึริ (Gion Matsuri) หรือ เทศกาลใหญ่ของศาลเจ้ายาซะกะ

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-35 เทศกาลใหญ่ของศาลเจ้ายาซะกะที่เกียวโต เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในเกียวโตในบรรดาเทศกาลหน้าร้อน ขบวนพาเหรดหรูหราตระการตาพร้อมเครื่องดนตรีและผู้ร่วมขบวนแห่ต่างสวมเครื่องแต่งกายแบบโบราณ ขบวนแห่วนรอบเมืองเกียวโต
ปลายกรกฎาคม – ต้นสิงหาคม
มิยะจิมะ-คันเก็งไซ (MiyajimaKangensai) หรือ เทศกาลดนตรีศาลเจ้าอิสึคุชิมา

จังหวัดฮิโรชิม่า ภูมิภาคชูโกคุ (Hiroshima,Chugoku)

 activity-festival-36 เทศกาลดนตรีศาลเจ้าอิสึคุชิมะ (Itsukushima) เมืองฮิโรชิม่า เป็นเทศกาลใหญ่ที่สำคัญของพิธีกรรมทางเรือที่ญี่ปุ่น โดยมีการรำราชสำนักประกอบดนตรี ได้แก่ ขลุ่ย กลองและเครื่องสายญี่ปุ่น
24-25 กรกฎาคม
เท็นจิน-มัตสึริ (TenjinMatsuri) หรือ เทศกาลแห่เรือศาลเจ้าเท็นมังกู

จังหวัดโอซาก้า ภูมิภาคคันไซ (Osaka,Kansai)

 activity-festival-37 เทศกาลฤดูร้อนศาลเจ้าโอซาก้าเท็นมังกู (Osaka Tenmangu shrine) เมืองโอซาก้า ถือเป็นหนึ่งในสามงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ในงานมีขบวนแห่ทางบกและทางน้ำ มีผู้ร่วมขบวนแห่จำนวนหลายพันคน และมีเทศกาลดอกไม้ไฟ
2-7 สิงหาคม
เนบุตะ-มัตสึริ (Aomori Nebuta Matsuri) หรือ เทศกาลหุ่นโคมไฟ

จังหวัดอะโอโมริ ภูมิภาคโทโฮคุ (Aomori,Tohoku)

 activity-festival-38 เทศกาลหุ่นโคมไฟเมืองอะโอะโมะริเป็นพิธีที่ทำสืบต่อกันมานานกว่า 300 ปี ทำเพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย มีขบวนแห่โครงหุ่นขนาดใหญ่ทำจากกระดาษเปียก ขึ้นเป็นรูปร่างต่างๆ ส่วนใหญ่มักเป็นลวดลายตัวละครจากละครคะบุกิ นอกจากนี้ ในขบวนแห่มีระบำ มีดนตรีและมีการจัดแสดงดอกไม้ไฟ
1-7 สิงหาคม
เนปูตะ-มัตสึริ (Hirosaki Neputa Matsuri) หรือ เทศกาลหุ่นโคมไฟ

เมืองฮิโระซะกิ จังหวัดอะโอโมริ ภูมิภาคโทโฮคุ (Hirosaki City, Aomori, Tohoku)

 activity-festival-39 เทศกาลหุ่นโคมไฟเมืองฮิโระซะกิในจังหวัดอะโอะโมะริ มีขบวนแห่โครงหุ่นกระดาษขนาดใหญ่ ขึ้นเป็นรูปต่างๆ และยังมีระบำ มีดนตรีและมีการจัดแสดงดอกไม้ไฟ
3-6 สิงหาคม
คันโต มัตสึริ (Kanto Matsuri) หรือ เทศกาลแห่โคมไฟคันโต

จังหวัดอะคิตะ ภูมิภาคโทโฮคุ (Akita,Tohoku)

 activity-festival-40 เทศกาลแห่โคมไฟคันโต จังหวัดอะกิตะ  ถนนหลักถูกปกคลุมไปด้วยโคมไฟกว่าหมื่นดวงและเสาโคมไฟ “คันโต” หลายร้อยเสา ส่วนที่น่าสนใจ ได้แก่ เทคนิคการแห่เสาโดยใช้หน้าผากและสะโพก
5-7 สิงหาคม
ฮะนะงะซะ-มัตสึริ (Hanagasa Matsuri) หรือ เทศกาลหน้าร้อนฮะนะงะซะ

จังหวัดยะมะงะตะ ภูมิภาคโทโฮคุ (Yamagata,Tohoku)

 activity-festival-41 เทศกาลหน้าร้อนฮะนะงะซะ ในจังหวัดยะมะงะตะ มีขบวนฟ้อนรำของชาวเมืองกว่า 10,000 คน ทุกคนสวมหมวกฟางติดดอกไม้เทียม ซึ่งเป็นชุดประจำเทศกาล และระหว่างขบวนแห่ก็จะมีการตะโกนร้อง ‘Yassho! Makkasho! ตามจังหวะกลองสนุกๆ
12-15 สิงหาคม
อะวะ-โอโดริ (Awa-Odori) หรือ เทศกาลระบำงานบงโอะโดะริ

จังหวัดโทคุชิมะ ภูมิภาคชิโกคุ (Tokushima,Shikoku)

 activity-festival-42 เทศกาลระบำอะวะเป็นงานบงโอะโดะริที่ใหญ่หนึ่งในสามของญี่ปุ่น จัดขึ้นที่จังหวัดโทะกุชิมะ มีการร่ายรำท่าที่เรียกว่า Awa Odori ประกอบเสียงเพลงทั้งกลางวันและกลางคืน  นักท่องเที่ยวร่วมเต้น Awa Odori ไปพร้อมกับๆขบวนได้ ท่าเต้นจำง่ายและสนุก
13-15 สิงหาคม
โอบ้ง-มัตสึริ (Bon Matsuri) หรือ เทศกาลโคมไฟ

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-43 เทศกาลโคมไฟจัดทั่วประเทศเป็นพิธีทางศาสนา เพื่อระลึกถึงดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะมีการจุดไฟต้อนรับที่หน้าบ้าน,ถวายผักบูชา,มีการละเล่นโดยมีการเต้นระบำโบราณโอบ้งเพื่อระลึกถึงดวงวิญญาณเหล่านั้นด้วยและในวันสุดท้ายจะจุดไฟ เป็นการส่งกลับวิญญาณบรรพบุรุษ
16 สิงหาคม
ไดมงจิ (Daimonji Gozan Okuribi) หรือเทศกาลส่งดวงวิญญาณ

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-44 เทศกาลส่งดวงวิญญาณผู้ล่วงลับจัดขึ้นในช่วงวันสุดท้ายของช่วงโอบง(ช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด)  มีการจุดไฟบนเนินเขาเป็นภาพต่างๆ บนภูเขา 5 ลูกที่ล้อมรอบจังหวัดเกียวโต เมื่อตกเย็นชาวเมืองพร้อมใจกันปิดไฟที่บ้านเพื่อจะได้ชมภาพไฟบนเขาอย่างชัดเจน ในภาพคืออักษร 大 หมายความว่า ใหญ่
1-3 กันยายน
โอวะระ คาเซโนะบ้ง (Owara Kaze-no-Bon) หรือ เทศกาลร่ายรำโบราณโทยะมะ

จังหวัดโทยะมะ ภูมิภาคจูบุ (Toyama,Chubu)

 activity-festival-45 เทศกาลร่ายรำโบราณที่มีบททำนองร้องแบบก้องกังวล นอกจากนี้ ทั่วทั้งเมืองยังสว่างไสวไปด้วยแสงอันงดงามจากโคมไฟ
14-16 กันยายน
ยะบุซะเมะ (Yabusame) งานแสดงขี่ม้ายิงธนู

เมืองคะมะคุระ จังหวัดคะนะคะวะ ภูมิภาคคันโต (Kamakura City, Kanagawa, Kanto)

 activity-festival-46 งานแสดงขี่ม้ายิงธนู ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬา จัดขึ้นที่เมืองคะมะคุระ โดยยะบุชะเมะคือการแข่งขันประชันทักษะ ผู้เข้าร่วมแข่งควบม้าพร้อมยิงธนูใส่เป้าขณะที่ม้ากำลังวิ่ง ในสมัยโบราณ การแข่งประชันทักษะเช่นนี้เคยเป็นที่นิยมในหมู่ซามูไร นอกจากนี้ มีขบวนแห่ด้วย
กลาง กันยายน
การแข่งขันซูโม่

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-47 การแข่งขันซูโม่ รอบที่ 5 ในโตเกียวเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่งมีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
7-9 ตุลาคม
นางาซะกิ คุนชิ (Nagasaki Kunchi) หรือ เทศกาลบวงสรวงศาลเจ้าชุวะ

จังหวัดนางาซะกิ ภูมิภาคคิวชู (Nagasaki,Kyushu)

 activity-festival-48 เทศกาลนางาซะกิ คุนชิ เป็นงานที่จัดเป็นประจำในช่วงฤดูใบไม้ร่วง มีระบำมังกรเพื่อบวงสรวงศาลเจ้าซุวะในเมืองนะงะซะกิ มีการแห่มังกรแบบดั้งเดิมพร้อมขบวนแห่ศาลเจ้า
9-10 ตุลาคม
ทาคายามะ-มัตสึริ (Takayama Matsuri) หรือ เทศกาลแห่ศาลเจ้าทาคายามะ

เมืองทะคะยะมะ จังหวัดกิฟุ ภูมิภาคจูบุ (Takayama City, Gifu,Chubu)

 activity-festival-49 เทศกาลทาคายามะ เป็นเทศกาลที่จัดในช่วงฤดูใบร่วง จัดที่ศาลเจ้าSakurayama Hachiman ในเมืองทะคะยะมะ มีขบวนรถแห่ศาลเจ้าอันตระการตาที่มีอายุนับร้อยปีราวกว่า 10 กว่าขบวนให้ชม
กลาง ตุลาคม
นาโกย่า-มัตสึริ (Nagoya Matsuri) หรือ เทศกาลเมืองนาโกย่า

เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ ภูมิภาคจูบุ (Nagoya,Aichi ,Chubu)

 activity-festival-50 เทศกาลเมืองนาโกย่า มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ของคนที่นำโดยสามขุนนางศักดินาที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคของนักรบ ตามด้วยผู้ร่วมขบวนที่แต่งกายในชุดซามุไร
กลาง ตุลาคม – พฤศจิกายน
คิคุ-มัตสึริ (Kiku Matsuri) หรือ เทศกาลดอกเบญจมาศ

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo,Kanto)

 activity-festival-51 เทศกาลดอกเบญจมาศที่ศาลเจ้า Meiji ศาลเจ้าYushima Tenjin และวัด Asakusa ในโตเกียว มีดอกเบญจมาศหลากสีประดับประดาภายในงาน
17 ตุลาคม
ชูคิ ไทไซ (Shuki Taisai or Autumn Grand Festival) หรือ เทศกาลใหญ่ฤดูใบไม้ร่วงศาลเจ้าโทโชกุ

เมืองนิกโก้ จังหวัดโทจิกิ ภูมิภาคคันโต (Nikko, Tochigi, Kanto)

 activity-festival-52 เทศกาลใหญ่ฤดูใบไม้ร่วงประจำศาลเจ้าโทโชกุ (Toshogu) ที่เมืองนิกโก้ มีขบวนพาเหรดแต่งกายตามแบบนักรบโบราณสวมเสื้อเกราะกว่า 1,000 คน พร้อมงานแสดงขี่ม้ายิงธนู
22 ตุลาคม
จิได-มัตสึริ (Jidai Matsuri) หรือ เทศกาลย้อนยุคของศาลเจ้าเฮอัน

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-53 เทศกาลย้อนยุคของศาลเจ้าเฮอันในเกียวโต นับเป็นหนึ่งใน 3 เทศกาลใหญ่ของเกียวโต มีขบวนแห่ คนในขบวนสวมเครื่องแต่งกายโบราณ นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และสื่อถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่น
22 ตุลาคม
คุระมะโนะฮิ-มัตสึริ (Kurama no Hi-Matsuri) หรือ เทศกาลไฟ

จังหวัดเกียวโต ภูมิภาคคันไซ (Kyoto,Kansai)

 activity-festival-54 เทศกาลไฟ มีขบวนแห่คบเพลิง ขบวนแห่ที่มีโคมไฟกว่า 250 ดวงแห่ไปตามทางจนถึงที่ศาลเจ้ายูคิ (Yuki Jinja) ในเกียวโต
2 – 4 พฤศจิกายน
คะระสึ คุนชิ-มัตสึริ (Karatsu kunchi Matsuri) หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ร่วงศาลเจ้าคะระสึ

จังหวัดซะงะ ภูมิภาคคิวชู (Saga, Kyushu)

 activity-festival-55 เทศกาลฤดูใบไม้ร่วงศาลเจ้าคะระสึ (Karatsu Jinja) ในจังหวัดซะงะ มีขบวนแห่โครงรูปปลาสีแดงขนาดใหญ่ เทศกาลนี้เริ่มต้นด้วยพิธีขอบคุณเทพเจ้าสำหรับการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี ส่วนวันที่สองของเทศกาล มีการเดินขบวนแห่โครงปลาขนาดใหญ่ไปลงน้ำที่ชายหาด พร้อมด้วยการบรรเลงดนตรีด้วยปี่และกลอง
3 พฤศจิกายน
ฮะโกะเนะ ไดเมียว เกียวเรสึ (Hakone Daimyo Gyoretsu) หรือ เทศกาลขบวนแห่เจ้าเมือง

เมืองฮะโกะเนะ จังหวัดคะนะกาวะ, ภูมิภาคคันโต (Hakone, Kanagawa, Kanto)

 activity-festival-56 ขบวนแห่เจ้าเมืองในเมืองฮะโกะเนะ  ผู้ร่วมขบวนแห่ราว 170 คนแต่งตัวเป็นนักรบซามูไรและเจ้าหญิง ร้องรำไปกับขบวนแห่
กลาง พฤศจิกายน
การแข่งขันซูโม่

จังหวัดฟุคุโอกะ ภูมิภาคคิวชู (Fukuoka, Kyushu)

 activity-festival-57 การแข่งขันซูโม่ รอบที่ 6 ในฟุคุโอกะเป็นเวลา 15 วัน
นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่นั่งมีเว็บไซต์ขายบัตร (ภาษาอังกฤษ)
15 พฤศจิกายน
ชิจิ โกะ ซัง-มัตสึริ (Shichi Go San) หรือ เทศกาลฉลองอายุ 3,5 และ 7 ขวบ

จัดงานทั่วประเทศ

 activity-festival-58 ครอบครัวชาวญี่ปุ่นจะพาเด็กชายหญิงที่มีอายุครบ 3, 5 และ 7 ปี ไปไหว้พระที่ศาลเจ้าเพื่อขอพรให้เทพเจ้าอำนวยพรให้เด็กคนดังกล่าวมีสุขภาพดีตลอดไป พ่อแม่นิยมให้เด็กๆ แต่งกายในชุดตามประเพณีโบราณ ได้แก่ ชุดกิโมโนเพื่อไปนมัสการที่ศาลเจ้า
2-3 ธันวาคม
ชิชิบุ โย-มัตสึริ (Chichibu Yo-Matsuri) หรือ เทศกาลศาลเจ้าชิชิบุ เมืองChichibu

จังหวัดไซตะมะ ภูมิภาคคันโต (Saitama,Kanto)

 activity-festival-59 เทศกาลศาลเจ้าชิชิบุที่เมืองชิชิบุ  จังหวัดไซตามะ ศาลเจ้านี้มีอายุกว่าสองพันปีแล้ว มีการจัดขบวนแห่ที่อลังการและปิดฉากด้วยการจุดดอกไม้ไฟ
15-18 ธันวาคม
คะซุงะ วะคะมิยะ อน-มัตสึริ (Kasuga Wakamiya On-Matsuri) หรือ เทศกาลศาลเจ้าคะซุงะ

จังหวัดนารา ภูมิภาคคันไซ (Nara, Kansai)

 activity-festival-60 เทศกาลศาลเจ้าคะซุงะ (Kasuga Taisha) ในเมืองนารา เป็นพิธีการบูชาสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการแสดงโบราณ ในงานมีทั้งขบวนแห่ย้อนยุคและการขับร้องร่ายรำแบบโบราณ รวมทั้งมีขบวนแห่ที่ผู้ร่วมขบวนสวมหน้ากากด้วย
17-19 ธันวาคม
ฮะโงะตะ อิชิ-มัตสึริ (Hagoita-Ichi) หรือ เทศกาลไม้ตีลูกขนไก่โบราณ

กรุงโตเกียว ภูมิภาคคันโต (Tokyo, Kanto)

 activity-festival-61 เทศกาลไม้ตีลูกขนไก่โบราณ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดอะซะคุซะ (หรือวัด Sensoji) ในโตเกียว มีการออกร้านขายไม้ตีลูกขนไก่โบราณที่ตกแต่งอย่างงดงามจำนวนกว่า 50 ร้าน

 

ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2014

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งประเทศญี่ปุ่น

โปรแกรมทัวร์ญี่ปุ่น https://wetripstravel.com/intertours/japan/